Activities

for w3c
ภาพตัวอย่าง

โครงการพัฒนาและเผยแพร่ความรู้ด้านวิชาการ ประจำปี 2567 ในหัวข้อ “AI กับความท้าทายในงานห้องสมุด (Artificial intelligence in Libraries)”

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.00 น. นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาและเผยแพร่ความรู้ด้านวิชาการ ประจำปี 2567 ในหัวข้อ “AI กับความท้าทายในงานห้องสมุด (Artificial intelligence in Libraries)”  โดยมีนางสาวเนาวรัตน์ ปัญญางาม ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ กล่าวรายงานกิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม อนุกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร นายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) รองศาสตราจารย์ ดร.วีระ เหมืองสิน รองผู้อำนวยการสำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายโตมร ศุขปรีชา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (OKMD) และนางสาวกนกวรรณ บัวงาม บรรณารักษ์ หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นวิทยากรในการบรรยายให้ความรู้ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ณ ห้องประชุมใหญ่ สำนักหอสมุดแห่งชาติ จำนวน 80 คน และมีการถ่ายทอดสดผ่านทาง Zoom Meeting และ Facebook Live ของหอสมุดแห่งชาติ

ภาพตัวอย่าง

โครงการพัฒนาและส่งเสริมหอสมุดแห่งชาติเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตประจำปี ๒๕๖๗ เรื่อง "เอกสารโบราณ มรดกศิลปวัฒนธรรมของไทยในยุคดิจิทัล"

วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ นำโดย นายจุง  ดิบประโคน นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก และนางศิวพร เฉลิมศรี นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรในโครงการพัฒนาและส่งเสริมหอสมุดแห่งชาติเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตประจำปี ๒๕๖๗ เรื่อง "เอกสารโบราณ มรดกศิลปวัฒนธรรมของไทยในยุคดิจิทัล" ณ  หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก กาญจนบุรี โดยได้รับความสนใจจากนักเรียน นักศึกษา และอาจารย์ทางด้านบรรณารักษ์ เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ ๘๒ คน ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรมได้รับความรู้เกี่ยวกับเอกสารโบราณ  การใช้ฐานข้อมูลเอกสารโบราณ การสาธิตการจารใบลานและร่วมกิจกรรมเวิร์กชอปการจารใบลาน เป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องเอกสารโบราณและสืบสานมรดกศิลปวัฒนธรรมของไทยให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัล

ภาพตัวอย่าง

โครงการเผยแพร่พระเกียรติคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 “กิจกรรมทวีปัญญา” ประจำปี 2567 ครั้งที่ 1

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13.00-16.00 น. สำนักหอสมุดแห่งชาติจัดโครงการเผยแพร่พระเกียรติคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 “กิจกรรมทวีปัญญา” ประจำปี 2567 ครั้งที่ 1 การเสวนา เรื่อง “ศิลปะการแสดงละครพูดในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” โดยมีนางสาวเนาวรัตน์ ปัญญางาม ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติเป็นประธานในพิธีเปิด และนางสาวบุบผา ชูชาติ ผู้อำนวยการกลุ่มบริการทรัพยากรสารสนเทศ เป็นผู้กล่าวรายงานทั้งนี้ การเสวนาดังกล่าว ได้รับความกรุณาจากผศ.ดร.ภัธทรา โต๊ะบุรินทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปะการแสดง คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และผศ.ดร.อาทรี วณิชตระกูล อาจารย์ประจำสาขาวิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และดำเนินรายการเสวนาโดยนายบารมี สมาธิปัญญา นักวิชาการเผยแพร่ สำนักหอสมุดแห่งชาติ ทั้งนี้มีข้าราชการกรมศิลปากร นักเรียน นักศึกษา รวมถึง ประชาชนทั่วไปสนใจเข้าร่วมโครงการ ณ ห้องศรีอยุธยา หอวชิราวุธานุสรณ์ นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Live ของหอสมุดแห่งชาติด้วย

ภาพตัวอย่าง

โครงการสำรวจเอกสารโบราณ ประจำปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 1

โครงการสำรวจเอกสารโบราณ ประจำปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 1 จังหวัดตาก ลำพูนและเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 13-22 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดย กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก ดำเนินงานโครงการสำรวจเอกสารโบราณ มีผู้ไปปฏิบัติงานตามโครงการจำนวน 5 ราย ดังนี้   1. นางสาวยุวเรศ วุทธีรพล นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ  2. นางสาววชรพร อังกูรชัชชัย นักภาษาโบราณชำนาญการ (หัวหน้ากลุ่มงานสำรวจเอกสารโบราณ) 3. นายจามีกร ชูทรัพย์ นักภาษาโบราณชำนาญการ  4. นางสาวปุณยวีร์ ส่งเสริม  นักภาษาโบราณปฏิบัติการ  5. นายธน ซึมไพศาล พนักงานขับรถยนต์    คณะทำงานได้ดำเนินโครงการสำรวจเอกสารโบราณ ประเภท จารึก ณ วัดหนองเงือก อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ได้รับความเมตตาจากท่านพระอธิการวีระยุทธ ยุทฺธวีโร เจ้าอาวาส อนุญาตให้เข้าปฏิบัติงาน โดยมีดร.บุญสุ่ม อินกองงาม ประธานคณะกรรมการฝ่ายไวยาวัจกร   เป็นผู้ประสานงาน ให้คณะกรรมการของวัด หมุนเวียนมาคอยอำนวยความสะดวก  คณะทำงานได้ปฏิบัติงาน ดังนี้    1. สำรวจเอกสารโบราณ ประเภทจารึก ณ คะตึกหอธัมม์ วัดหนองเงือก ดำเนินการทำความสะอาดเบื้องต้น บันทึกข้อมูลทะเบียน บันทึกภาพ และอ่านคัดถ่ายถอด  จารึก ทั้งหมด 194 รายการ 2. สำรวจจารึก ณ อาคารพิพิธภัณฑ์บ้านหนองเงือก พบเอกสารโบราณประเภท  จารึก ไม้บัญชัก คัมภีร์ใบลาน หนังสือสมุดไทย กระดาษฝรั่ง และสมุดพับหัว  3. ขนย้ายเอกสารโบราณทั้งหมด จากอาคารพิพิธภัณฑ์บ้านหนองเงือก มาไว้ในศาลาวัดหนองเงือก เนื่องจากมีปลวกขึ้น ทำให้อาคารไม่แข็งแรงและปลอดภัย 4. คัดแยกและนับจำนวนเอกสารโบราณ แต่ละประเภท  ที่รอการลงทะเบียน ได้ดังนี้      - คัมภีร์ใบลาน 450 มัด จำนวน 2,570 รายการ     - ไม้บัญชัก  จำนวน 207 รายการ     - หนังสือสมุดไทย จำนวน 37 เล่ม     - สมุดพับหัว จำนวน 25 เล่ม     - กระดาษฝรั่ง จำนวน 25 เล่ม   การดำเนินการ สำเร็จลงได้ด้วยดี จึงขอกราบขอบพระคุณและขอบคุณทุกท่านที่ได้เมตตาและอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดี โดยเฉพาะท่านพระอธิการวีระยุทธ ยุทฺธวีโร เจ้าอาวาสวัดหนองเงือก ท่านอธิบดีกรมศิลปากร  ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ  ท่านผู้บริหารตามสายงาน หวังว่าจะได้รับความเมตตาให้ความอนุเคราะห์ ในโอกาสต่อไป

ภาพตัวอย่าง

กิจกรรม NLT Edutainment ประจำปี 2567 ครั้งที่ 1

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13.00 น. นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาและส่งเสริมหอสมุดแห่งชาติเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต ประจำปี 2567 กิจกรรม NLT Edutainment ประจำปี 2567 ครั้งที่ 1 การเสวนา เรื่อง “สู่ราชสำนักสยาม บันทึกการเดินทางของคณะทูตจากข้าหลวงใหญ่แห่งอินเดียถึงราชสำนักสยามและญวน” มีนางสาวเนาวรัตน์ ปัญญางาม ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ในการจัดโครงการ กิจกรรม NLT Edutainment ประจำปี 2567 ครั้งที่ 1 การเสวนา เรื่อง “สู่ราชสำนักสยาม บันทึกการเดินทางของคณะทูตจากข้าหลวงใหญ่แห่งอินเดียถึงราชสำนักสยามและญวน” วิทยากร นายสุทธิศักดิ์ ปาลโพธิ์ ผู้แปลหนังสือสู่ราชสำนักสยาม บันทึกการเดินทางของคณะทูตจากข้าหลวงใหญ่แห่งอินเดียถึงราชสำนักสยามและญวน และนายพงศกร ระวิเพียรทรัพย์ หัวหน้างานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล และดำเนินการเสวนาโดย นายบารมี สมาธิปัญญา นักวิชาการเผยแพร่ สำนักหอสมุดแห่งชาติ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้แก่ บุคลากรสำนักหอสมุดแห่งชาติ นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ณ โถงกลาง ชั้น 1 อาคาร 1 สำนักหอสมุดแห่งชาติ และมีผู้เข้าถึงการถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Live ของหอสมุดแห่งชาติด้วย

ภาพตัวอย่าง

โครงการอบรมผู้ช่วยบรรณารักษ์ และซ่อมแซมบำรุงหนังสือ ประจำปี 2567 ณ ห้องสมุดเรือนจำจังหวัดนนทบุรี

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.30 น. สำนักหอสมุดแห่งชาติร่วมกับเรือนจำจังหวัดนนทบุรีดำเนิน โครงการอบรมผู้ช่วยบรรณารักษ์ และซ่อมแซมบำรุงหนังสือ ประจำปีงบประมาณ 2567 ในระหว่างวันที่ 12-16 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องสมุดเรือนจำจังหวัดนนทบุรี ในโอกาสนี้นางสาวเนาวรัตน์ ปัญญางาม ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ มอบหนังสือเพื่อนำไปจัดให้บริการในห้องสมุดเรือนจำ มีนายกลยุทธ พานาสันต์ ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดนนทบุรีเป็นผู้รับมอบ   สำหรับโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ช่วยบรรณารักษ์ห้องสมุดเรือนจำและผู้ต้องขังที่สนใจ มีความรู้ทักษะด้านบรรณารักษ์ ทักษะในการ ซ่อมแซมบำรุงหนังสือ อีกทั้งยังส่งเสริมให้มีนิสัยรักการอ่าน เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันในเรือนจำ นอกจากนี้ยังเป็นการยกระดับบุคลากรห้องสมุดให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ทางกรมราชทัณฑ์กำหนด โดยสำนักหอสมุดแห่งชาติอนุเคราะห์วิทยากรฝึกอบรมแก่ผู้ต้องขัง จำนวน 30 ชั่วโมง แบ่งเป็นหลักสูตรผู้ช่วยบรรณารักษ์ จำนวน 18 ชั่วโมง และหลักสูตรซ่อมแซมบำรุงหนังสือ จำนวน 12 ชั่วโมง มีผู้ต้องขังเข้าร่วมการฝึกอบรมทั้งสิ้น 31 คน  

ภาพตัวอย่าง

ผู้บริหารบริษัท ทีวี ธันเดอร์ จำกัด (มหาชน) พร้อมนายชุมศักดิ์ สุกาญจนะ เข้ามอบหนังสือให้กับหอสมุดแห่งชาติ

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.30-11.00 น. นายสมพงษ์ วรรณภิญโญ ประธานที่ปรึกษา และนางภัทรภร วรรณภิญโญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ทีวี ธันเดอร์ จำกัด (มหาชน) พร้อมนายชุมศักดิ์ สุกาญจนะ ได้มอบหนังสือแนวปรัชญาที่ให้ข้อคิด ในการดำรงชีวิตที่เขียนโดยนายสมพงษ์ วรรณภิญโญ จำนวน 1,100 เล่ม ให้กับหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งบริษัทฯ ได้มีการดำเนินโครงการ "มอบหนังสือดีแก่ห้องสมุด" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการอ่าน และการศึกษาแก่เด็กและเยาวชน รวมทั้งให้ห้องสมุดมีหนังสือไว้ให้ ประชาชนทั่วไปได้อ่าน ศึกษาค้นคว้า และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา สังคมและชุมชน  ทั้งนี้มีนางสาวเนาวรัตน์ ปัญญางาม ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ และบุคลากรสำนักหอสมุดแห่งชาติ รับมอบและให้การต้อนรับพร้อมนำชมหอสมุดแห่งชาติและหอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อม สิรินธร

ภาพตัวอย่าง

พิธีมอบมุมบริการความรู้สู่ชุมชน “ชวนอ่านออนไลน์กับ NLT Smart Library”

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.00-16.00 น. นางสาวเนาวรัตน์ ปัญญางาม ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ ทำพิธีมอบมุมบริการความรู้สู่ชุมชน “ชวนอ่านออนไลน์กับ NLT Smart Library” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบริการความรู้สู่ชุมชน กิจกรรม "ชวนล่องใต้ขยายการเรียนรู้กับหอสมุดแห่งชาติ" โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมนิสัยรักการอ่านและการเรียนรู้ของประชาชน อีกทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์และขยายพื้นที่การให้บริการของ NLT Smart Library ไปยังหน่วยงานในระดับท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับการศึกษาสามารถเข้าถึงการบริการผ่านระบบดิจิทัลหรือออนไลน์ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ทั้งนี้ สำนักหอสมุดแห่งชาติได้ติดตั้งมุมบริการความรู้สู่ชุมชน “ชวนอ่านออนไลน์กับ NLT Smart Library” ในโครงการนี้ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานตรัง และสถานีรถไฟตรัง พร้อมทั้งได้จัดวิทยากรแนะนำการใช้บริการ NLT Smart Library ให้แก่ประชาชนที่เข้ามาใช้บริการท่าอากาศยานตรัง และสถานีรถไฟตรังด้วย

ภาพตัวอย่าง

พิธีเปิดโครงการบริการความรู้สู่ชุมชน กิจกรรม "ชวนล่องใต้ขยายการเรียนรู้กับหอสมุดแห่งชาติ"

วันที่ 31 มกราคม 2567 เวลา 09.00 น. นางสาวพิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญ นักอักษรศาสตร์ทรงคุณวุฒิ (ภาษา เอกสาร และหนังสือ) กรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการบริการความรู้สู่ชุมชน กิจกรรม "ชวนล่องใต้ขยายการเรียนรู้กับหอสมุดแห่งชาติ" โดยมีนางสาวเนาวรัตน์ ปัญญางาม ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ กล่าวรายงาน ณ หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ตรัง ทั้งนี้ สำนักหอสมุดแห่งชาติกำหนดจัดกิจกรรม "ชวนล่องใต้ขยายการเรียนรู้กับหอสมุดแห่งชาติ" ขึ้นในระหว่างวันที่ 31 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2567 โดยกิจกรรมในวันแรก ประกอบด้วย 1) การบรรยายเรื่อง "ชวนคิดส์ ชวนเล่า" วิทยากรโดย นายเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป (อ.ตุ๊บปอง) กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก 2) การเสวนาเรื่อง "ชวนชาวตรังอ่าน" วิทยากรโดย นายขจรฤทธิ์ รักษา เจ้าของสำนักพิมพ์บ้านหนังสือ ดำเนินรายการโดย นางสาวบุบผา ชูชาติ ผู้อำนวยการกลุ่มบริการทรัพยากรสารสนเทศ สำนักหอสมุดแห่งชาติ 3)  ฐานกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้จากหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ตรัง หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ สงขลา หอสมุดแห่งชาติกาญจนาภิเษก สงขลา หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ตรัง สำนักงานพลังงานจังหวัดตรัง ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ตรัง และเครือข่าย สสส. จังหวัดตรัง (กลุ่มเพลินตรัง และชมรมจักรยาน เดิน-วิ่ง เทศบาลนครตรัง)

ภาพตัวอย่าง

กรมศิลปากรผนึกกำลังภาคประชาชนร่วมอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานวัดราชประดิษฐฯ

นายพนมบุตร จันทรโชติ  อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กรมศิลปากร โดยสำนักหอสมุดแห่งชาติ ได้ดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามกับกรมศิลปากร เพื่อเผยแพร่ผลงานการอนุรักษ์จัดเก็บคัมภีร์ใบลานวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม โดยมีอาสาสมัครและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง รวม 25 คน  ทำการสำรวจ อนุรักษ์ ลงทะเบียน จัดเก็บคัมภีร์ใบลานตามหลักวิชาการ ระหว่างวันที่ 30 มกราคม – 30 เมษายน  2567 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในการส่งเสริม และสนับสนุนให้ประชาชน มีส่วนร่วมขับเคลื่อนงานด้านวัฒนธรรม โครงการดังกล่าวเป็นการบูรณาการความร่วมมือและสร้างการรับรู้ระหว่างคณะสงฆ์ กรมศิลปากร และภาคส่วนประชาชน เพื่ออนุรักษ์สืบสานคัมภีร์ใบลานซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาของบรรพชนให้มีอายุยืนยาว อีกทั้งยังเกิดเครือข่ายอาสาสมัครอนุรักษ์เอกสารโบราณ ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลและส่งต่อมรดกภูมิปัญญาให้สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นสืบไป

ภาพตัวอย่าง

อาจารย์และนิสิตภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าศึกษาดูงาน ณ หอสมุดแห่งชาติ

วันที่ 30 มกราคม 2567 เวลา 13.30-15.30 น. อาจารย์และนิสิตภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 16 คน เข้าศึกษาห้องเอกสารโบราณ ห้องหนังสือหายาก ห้องบริการหนังสือประเทศไทย ราชกิจจานุเบกษา และหนังสือนานาชาติ ตลอดจนศึกษาดูงานด้านการอนุรักษ์ (กลุ่มงานสงวนรักษาหนังสือ) ณ หอสมุดแห่งชาติ เพื่อให้นิสิตได้รู้จักทรัพยากรสารสนเทศที่มีคุณค่าทางมรดกทางวัฒนธรรม ตลอดจนเรียนรู้วิธีดูแลจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรสารสนเทศมรดกทางวัฒนธรรม

ภาพตัวอย่าง

ข้าราชการกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ เข้าร่วมจัดกิจกรรมงานวันวิชาการ “ACP Academic & Project Day 2023”

วันที่ 22 - 23 มกราคม 2567  กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ นำโดยนางศิวพร  เฉลิมศรี นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ นางสาวยุวเรศ  วุทธีรพล นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ นางรตนาภรณ์  สอาดโอษฐ์ นักภาษาโบราณชำนาญการ และนายนรวิชญ์  มีชัย นักภาษาโบราณ ได้เข้าร่วมจัดกิจกรรมงานวันวิชาการ “ACP Academic & Project Day 2023” ในหัวข้อเรื่อง “วิวัฒนาการอักษรไทย” ณ โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม เขตสาทร กรุงเทพมหานคร โดยมี นายสถาพร  เที่ยงธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม  มีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ ๘๐๐ คน ซึ่งนักเรียนจะได้เรียนรู้วิวัฒนาการของอักษรไทยและสาธิตการจารใบลาน  นอกจากนักเรียนจะได้รับความรู้เรื่อง วิวัฒนาการของอักษรไทยและร่วมจารใบลานแล้วยังเป็นการปลูกฝังให้เยาวชนเห็นคุณค่า  และภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมของไทย รวมถึงยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนด้วย

ภาพตัวอย่าง

พิธีเปิดนิทรรศการหมุนเวียน เรื่อง "จากหนังสือตราหอสู่หนังสือกรมศิลปากรออนไลน์"

วันที่ 18 มกราคม 2567 เวลา 14.00 น. สำนักหอสมุดแห่งชาติจัดโครงการพัฒนาและส่งเสริมหอสมุดแห่งชาติเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต ประจำปี 2567 กิจกรรมจัดนิทรรศการหมุนเวียน เรื่อง "จากหนังสือตราหอสู่หนังสือกรมศิลปากรออนไลน์" โดยมี นายพนมบุตร  จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีเปิด และนางสาวเนาวรัตน์  ปัญญางาม ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ กล่าวรายงาน    ทั้งนี้ นิทรรศการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้และจัดแสดงหนังสือ ที่หน่วยงานในกรมศิลปากรจัดพิมพ์ตั้งแต่แรกสถาปนากรมศิลปากร จนถึงปัจจุบันที่หนังสือเหล่านั้นได้ดำเนินการจัดทำเป็นดิจิทัลเพื่อประโยชน์แก่การศึกษาอย่างกว้างขวางเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม – วันที่ 31 มีนาคม 2567 ณ ห้องวชิรญาณ 2-3 ชั้น 1 อาคาร 2 สำนักหอสมุดแห่งชาติ (วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 9.00-16.00 น. วันเสาร์ วันอาทิตย์ เวลา 9.00-17.00 น.)

ภาพตัวอย่าง

กิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2567

วันที่ 13 มกราคม 2567 เวลา 08.00-12.00 น. สำนักหอสมุดแห่งชาติ จัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2567 ณ ถนนด้านหลังอาคาร 2 หอสมุดแห่งชาติ โดยมีนางสาวพิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีเปิด และนางสาวเนาวรัตน์ ปัญญางาม ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ กล่าวรายงาน โดยกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ โดยสำนักหอสมุดแห่งชาติในปีนี้ จัดภายใต้แนวคิด “ถนนเด็กเพลิน Learning Is Fun” โดยมุ่งเน้นให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ และได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน กับกิจกรรม เกม ของแจก ของรางวัล ของหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กิจกรรมเล่มนี้ที่หนูอยากอ่าน, บิงโก...ดนตรีไทย ประทับใจคนทั่วโลก, ปิงปองนำโชค, Soft Power...ทั่วไทยกระชากใจคนทั่วโลก,  จิ๊กซอว์...อิ่มอร่อยทั่วไทยมัดใจคนทั่วโลก, Shoot Out…การละเล่นไทยให้ทาย,  พิพิธภัณฑ์สัญจร...ชาติพันธุ์หรรษา และการแสดงบนเวทีชุด “ระบำดอกบัว” และ “มองนานๆ” ทั้งนี้เด็ก ๆ ที่มาร่วมงานได้รับของขวัญของรางวัลจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนกลับบ้านทุกคน



เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานให้กับผู้ใช้งาน ทั้งนี้ สามารถมั่นใจได้ว่าเราจะดูแลและรักษาความปลอดภัยข้อมูลของท่านเป็นอย่างดี